เมื่อตอนเด็กๆ เราจำได้เคยไปสะพานข้ามแม่น้ำแควบ่อยมาก แม่พาไปนั่งป้อนข้าวแถวใกล้ริมสะพาน เพราะบ้านอยู่ใกล้แถวนั้น แต่อยู่ที่นั่นได้ประมาณ 10 กว่าปีนิดๆก็ต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นๆแล้ว ว่าแล้วก็คิดถึงขึ้นมาซะงั้นอยากไปเที่ยวอีก งั้นก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงละ ไปดีกว่า อ้อ!ทริปนี้ฉายเดี่ยว เพราะไปไม่ยาก ไปเช้าเย็นกลับ เพราะแค่อยากไปรำลึกความหลังแค่นั้นเอง
ไหนๆก็ไปคนเดียวเลยขอไปแบบชิลๆ ไปขึ้นรถทัวร์ที่สายใต้ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ตอนแรกกะว่าขึ้นรถแล้วจะนั่งดูข้างทางแบบสบายๆ แต่ทำไมน้า ขึ้นรถปุ๊บก็หลับปั๊บเลย และแล้วประมาณ 10โมงกว่าๆ เราก็มาถึงสถานีขนส่งจังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ลงยืดเส้น ยืดสายซะหน่อย คือ ไม่รีบ แล้วก็ไปนั่งรถสายกาญจนบุรี ทองผาภูมิ สังขละบุรี นั่งไปสักพัก ก็จะถึงแยกซ้ายเพื่อเข้าไปสะพานข้ามแม่น้ำแคว พี่เค้าก็จอดให้ลงตรงนั้น เดินไปอีกนิดหน่อยก็เรียกพี่วิน ให้ไปส่งที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว
ตอนนั่งพี่วิน พี่เค้าบอกว่า ไปเดินหากินปอเปี๊ยะสดก่อนนะ ที่นี่ขึ้นชื่อแล้วก็อร่อยมาก อยู่ในตลาดแถวนั้นแหละ แล้วก็อย่าลืมซื้อพลอยกลับบ้านไปซักเม็ด 2 เม็ดด้วยละกัน เราคิดแหมๆๆ พี่คะไอ้เจ้าปอเปี๊ยะสดเนี๊ยะพอได้นะ แต่ให้ซื้อพลอยเนี๊ยะ หนูคงไม่มีตังค์นั่งรถกลับบ้านแน่
พอไปถึงก็เอาวะ ทำตามที่พี่เค้าบอกหน่อย เข้าไปเดินเล่นในตลาดก่อน เป็นจริงดังท่านว่า ร้านขายปอเปี๊ยะสด เพียบ คือ เราก็ยังไม่ได้กินข้าวมาอะนะ ก็ซื้อไปเดินกินไป เดินดูพลอยไปเรื่อยๆ มีร้านขายของที่ระลึกขายด้วย มีทั้งเสื้อสัญลักษณ์สะพานข้ามแม่น้ำแคว หลักกิโล ตุ๊กตา โอ้ย!เยอะแยะ แต่เรายังไม่ซื้ออะนะ แค่เดินชมก่อนเพราะขี้เกียจถือขอพะรุงพะรังไปเดินบนสะพาน
ได้เวลาเดินเล่นบนสะพานกันซะที คือว่า มันหวิวใช้ได้เลย เราเดินแรกๆต้องใช้การเดินตรงกลางทางรถไฟ เพราะยังตั้งสติไม่ได้ ถึงไม่ค่อยสูงนักแต่ก็น่ากลัวใช้ได้สำหรับคนกลัวความสูงอย่างเรา จากจุดนี้มองไปก็จะเห็นทางรถไฟสายมรณะซึ่งเป็นทางรถไฟที่สร้างเลียบไปกับริมหน้าผา จัดว่าเป็นมุมที่สวยงามมากๆ แต่ทุกมุมที่สวยงาม ณ จุดนี้ เป็นที่ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกชั่วลูกชั่วหลาน เพราะมาจากความยากลำบาก มาจากชีวิตคนกว่าครึ่งแสนที่ต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว และทางรถไฟสายมรณะให้แล้วเสร็จเพื่อที่ทางผ่านของเหล่าทหาร เป็นทางผ่านของการสู้รบ
ดังนั้นในทุกๆปี ทางจังหวัดกาญจนบุรีเองจึงได้มีงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นการแสดงแสง สี เสียง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์อันน่าจดจำของสะพานข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้
เรียบเรียงข้อมูลโดย : paipaitour
ที่มาภาพ :
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น